13 เรื่องน่ารู้ฉีดก่อนฟิลเลอร์ร่องแก้ม แก้ไขริ้วรอยร่องแก้มได้ทุกกรณีจริงหรือเปล่า ?
ฟิลเลอร์ร่องแก้ม เป็น ฟิลเลอร์ ในตำแหน่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากร่องแก้มเกิดจากหลายสาเหตุ และมีวิธีการรักษาที่ต่างกัน
ในบทความนี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มทั้ง 13 ข้อ ว่าฟิลเลอร์ร่องแก้มคืออะไร สาเหตุของปัญหาร่องแก้มเกิดจากอะไร ปัญหาใดบ้างที่สามารถแก้ไขด้วยฟิลเลอร์ได้ พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม การดูแลตนเองก่อนและหลังการฉีดฟิลเลอร์และผลข้างเคียง
1. ฟิลเลอร์ร่องแก้ม (Midcheek Groove Filler) คืออะไร
การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม (Midcheek Groove Filler Injection) คือการฉีดสารเติมเต็มเข้าที่ใต้ผิวหนัง เพื่อแก้ไขปัญหารอยร่องแก้มบนใบหน้าจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งสารสังเคราะห์ที่ใช้ฉีดเป็นฟิลเลอร์ในปัจจุบันมีเพียง “กรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic acid)” เท่านั้น
เนื่องจากไฮยาลูรอนิคเป็นสารที่มีอยู่ในผิวหนังของเราอยู่แล้ว จึงเป็นฟิลเลอร์ที่ค่อนข้างปลอดภัย โอกาสแพ้มีน้อยกว่าสารสังเคราะห์อื่นๆ สามารถสลายตัวได้เองตามธรรมชาติ และยังสามารถแก้ไขผลการรักษาได้ด้วยการฉีดสลายฟิลเลอร์อีกด้วย
โดยยี่ห้อของฟิลเลอร์เติมร่องแก้มมีหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรุ่นให้เลือกฉีดตามลักษณะเนื้อของฟิลเลอร์ เพื่อแก้ไขปัญหาร่องแก้มที่ต้นเหตุอย่างเหมาะสม ตัวอย่างยี่ห้อฟิลเลอร์ ได้แก่ Juvederm, Belotero, Restylane, Neuramis,เป็นต้น
“นอกจากการฉีดแก้มด้วยฟิลเลอร์แล้ว ยังมีการฉีดไขมันร่องแก้มเพื่อแก้ไขปัญหาร่องแก้มลึกด้วย ซึ่งการฉีดกราฟไขมันจะค่อนข้างปลอดภัยมาก เนื่องจากไขมันที่นำมาฉีด มักจะนำมาจากไขมันบริเวณหน้าท้องหรือต้นขาของร่างกายผู้เข้ารับการรักษาเอง ทำให้ไม่เสี่ยงแพ้เลย แต่ข้อเสียหลักๆ ของการฉีดไขมันร่องแก้มคือผลการฉีดจะอยู่ถาวร ไม่สามารถสลายตัวได้เหมือนฟิลเลอร์ หากไม่พอใจผลการรักษา หรือหากอายุมากขึ้น รูปหน้าเปลี่ยน ผลการฉีดไขมันไม่ดีเท่าเดิม จะแก้ไขผลการรักษาได้ยากกว่าการฉีดฟิลเลอร์มาก”
2. ทำไมถึงต้องฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้ม
ร่องแก้มลึกเกิดจากอะไร? ปัญหาร่องแก้ม (Malar Groove, Midcheek Groove, หรือ Nasolabial Fold) สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ส่วนใหญ่เกิดจากการที่อายุมากขึ้น ทำให้ปริมาณกระดูกบริเวณใต้ตาและร่องแก้มลดลง ส่งผลให้ไขมันและเอ็นในบริเวณแก้มและตาหย่อนลง จากการที่ไม่มีฐานกระดูกดันทรงไว้อย่างเดิม
การที่กระดูกใบหน้าลดลงส่งผลให้เกิดถุงใต้ตา ตาลึกโหล ร่วมกับแก้มห้อย ย้อยลงมารวมกันอยู่ที่บริเวณเหนือกล้ามเนื้อร่องแก้ม จนทำให้เห็นรอยต่อระหว่างหน้าแก้ม กับส่วนที่เป็นจมูกและปากเป็นเส้นชัดเจน ซึ่งแก้มที่ห้อยย้อยรวมถึงรอยร่องแก้มนี้เอง ทำให้ดูอายุมากขึ้น
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ปัญหาร่องแก้มอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ด้วย เช่น
- ไขมันบริเวณแก้มมีเยอะกว่าปกติ
- กล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป
- กล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณแก้มไม่แข็งแรง หย่อนลงกว่าที่ควรเป็น ส่งผลให้แก้มห้อยลงมามากกว่าปกติ
- ผิวหนังขาดความชุ่มชื้นจนเห็นร่องแก้มเป็นรอยพับหลังจากยิ้ม
การฉีดร่องแก้มสามารถแก้ไขปัญหาร่องแก้มลึกได้เฉพาะปัญหาร่องแก้มที่เกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
- ปริมาณกระดูกบริเวณใต้ตาและร่องแก้มลดลง – สามารถฉีดฟิลเลอร์แก้มที่มีเนื้อแข็ง เพื่อเติมฐานกระดูกที่หายไป จะฉีดบริเวณใต้ตา แบบเดียวกับฟิลเลอร์ใต้ตา ฉีดบริเวณร่องแก้ม หรือฉีดร่วมกันทั้งสองบริเวณก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาร่องแก้มดังกล่าวเกิดจากกระดูกบริเวณใด
ฟิลเลอร์ร่องแก้มที่ฉีดแทนที่กระดูกจะทำให้ไขมันและเอ็นบริเวณแก้มถูกดันกลับเข้าไปที่เดิม ร่องแก้มจะตื้นขึ้นและจางลง อาจฉีดฟิลเลอร์บริเวณผิวหนังตื้นๆ ร่วมด้วยได้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาร่องแก้มจากผิวหนังด้านบน - กล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป – สามารถแก้โดยการฉีดโบท็อก (Botox) เพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อ และสามารถฉีดฟิลเลอร์เสริมเพื่อกดกล้ามเนื้อ หรือหนุนกล้ามเนื้อให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น
- ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น – ในกรณีนี้สามารถฉีดฟิลเลอร์เนื้อที่ค่อยข้างนิ่มในบริเวณผิวหนังชั้นตื้นๆ เพื่อแก้ไขได้ เนื่องจากฟิลเลอร์ที่เป็นกรดไฮยาลูรอนิคนั้น นอกจากจะทำให้ผิวหนังเต็มขึ้น ยังทำให้ผิวชุ่มชื้นมากขึ้นได้ด้วย
ในกรณีอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ อย่างการที่มีไขมันมากเกินไป กล้ามเนื้อและเอ็นหย่อนมากเกินไป หรือกระดูกยุบตัวลงมากจากอายุที่มากขึ้นหรืออุบัติเหตุ อาจจะต้องแก้ไขร้องแก้มที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การฉีดสลายไขมัน การดูดไขมัน ผ่าตัดศัลยกรรมเสริมร่องแก้ม ดึงร่องแก้ม บางรายอาจจะต้องใช้วิธีการเหล่านี้ร่วมกัน หรือทำร่วมกับการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มด้วยอีกทีหนึ่ง
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาร่องแก้ม สนใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ควรศึกษาหาข้อมูลให้ดี พร้อมทั้งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง เพื่อให้ทราบว่าปัญหาร่องแก้มลึกที่เกิดขึ้น ควรแก้ไขด้วยวิธีใด จะได้แก้ไขอย่างตรงจุด
“ปัญหาร่องแก้มจากเอ็นหย่อนเล็กน้อย มีไขมันส่วนเกิน หรือใบหน้าขาดน้ำ สามารถแก้ไขในเบื้องต้นได้ด้วยการดูแลตนเอง โดยวิธีลดร่องแก้มด้วยวิธีการตามธรรมชาติ ได้แก่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆ ทาครีมบำรุงผิวที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้สุขภาพผิวและปัญหาร่องแก้มดีขึ้นได้แล้ว”
3. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม หรือ Botox แบบไหนดีกว่ากัน
การแก้ไขปัญหาร่องแก้ม สามารถทำได้ทั้งการฉีดโบท็อก และการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ทั้งนี้ การจะพิจารณาว่าวิธีการใดดีกว่า ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาร่องแก้มเกิดจากสาเหตุใด
โบท็อก เป็นหัตถการรักษารอยเหี่ยวย่นของผิวหนังที่เกิดจากขยับกล้ามเนื้อ โดยการฉีดสารที่มีชื่อว่าโบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum toxin type A) เข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารพิษที่ได้จากแบคทีเรีย ออกฤทธิ์กับระบบประสาททำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ลดลง เมื่อการขยับกล้ามเนื้อลดลง ริ้วรอยก็จะลดลงได้ด้วยนั่นเอง
ปัญหาริ้วรอยร่องแก้ม สามารถใช้โบท็อกแก้ปัญหาได้เพียงกรณีมีร่องแก้มจากการที่กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป การฉีดโบท็อกจะไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าว ทำให้รอยร่องแก้มลดลง แต่ถ้าโบท็อกเพียงอย่างเดียว จะทำให้กล้ามเนื้อลดการทำงานมากเกินไป ขณะยิ้มก็จะยิ้มได้ไม่มาก ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าใช้โบท็อกในปริมาณที่น้อยเกินไป ร่องแก้มก็จะไม่หาย
ในปัจจุบันผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มจากกล้ามเนื้อทำงานมากเกินไป จึงนิยมฉีดโบท็อกร่วมกับการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มด้วยเทคนิค Myomodulation ซึ่งเป็นการฉีดฟิลเลอร์เพื่อหนุน หรือกดกล้ามเนื้อ ทำให้หลังฉีดร่องแก้มหายไป และทำให้รอยยิ้มยังคงดูสดใสและเป็นธรรมชาติมากขึ้น
4. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มช่วยในเรื่องอะไรบ้าง
- แก้ปัญหาหน้าหย่อนคล้อย ร่องแก้มลึก
- แก้ปัญหาแก้มห้อย ลงมาด้านหน้าหรือด้านข้างจนทำให้ดูมีอายุ
- แก้ปัญหาถุงใต้ตา ตาลึกโหลพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาร่องแก้ม
- ยกกระชับใบหน้า ทำให้ใบหน้าดูเด็กลง
- ทำให้ผิวชุ่มชื้นขึ้น รอยยับบนใบหน้าจากผิวแห้งลอกลดลง
- ทำให้ใบหน้าดูเต่งตึง ฉ่ำน้ำ ผิวสุขภาพดีขึ้น
5. ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มยี่ห้อไหนดี
การเลือกยี่ห้อฟิลเลอร์ร่องแก้มในการฉีด แพทย์จะเป็นผู้เลือกตามงบประมาณของผู้เข้ารับการรักษาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากฟิลเลอร์นั้นมีหลายเกรด หลายราคา แพทย์จะเลือกตามลักษณะของเนื้อฟิลเลอร์ที่ต้องใช้เป็นหลัก แล้วจึงให้ผู้เข้ารับการรักษาเลือกราคาอีกครั้งหนึ่ง
การเลือกลักษณะของเนื้อฟิลเลอร์เป็นเรื่องสำคัญในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม เพราะหากเลือกใช้เนื้อฟิลเลอร์ผิดประเภท นอกจากจะทำให้ร่องแก้มไม่หายไปแล้ว ยังอาจทำให้ร่องแก้มชัดกว่าเดิม หรืออาจเห็นฟิลเลอร์เป็นก้อนได้
ในการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มมักจะใช้ทั้งฟิลเลอร์ที่มีเนื้อแน่นแข็ง และเนื้อนิ่ม ฟิลเลอร์ที่เนื้อแน่นแข็ง คงรูปได้ดี นิยมใช้ฉีดในผิวหนังใต้ชั้นกล้ามเนื้อ เพื่อเสริมทดแทนกระดูกที่หายไป ทั้งบริเวณเบ้าตาและร่องแก้ม เพื่อเป็นฐานให้เนื้อเยื่อต่างๆ ถูกยกขึ้น
ส่วนฟิลเลอร์เนื้อนิ่ม การกระจายตัวสูง จะนิยมฉีดในชั้นผิวหนังตื้นๆ เพื่อปรับผิวให้เรียบ ดันผิวให้ตึง ทำให้รอยร่องแก้มจางลง ทั้งยังทำให้ผิวเรียบเนียน ชุ่มชื้นขึ้นได้ด้วย
ในปัจจุบัน ฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อจะผลิตออกมาหลายรุ่น แต่ละรุ่นต่างกันที่ส่วนผสม และลักษณะของเนื้อฟิลเลอร์ ให้แพทย์เลือกใช้ตามความเหมาะสม ในการฉีดแต่ละครั้งอาจจะใช้รุ่นเดียว หรือหลายรุ่น หลายยี่ห้อร่วมกันก็ได้ ตามความถนัดของแพทย์
โดยฟิลเลอร์ร่องแก้มที่สามารถฉีดได้อย่างปลอดภัย ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาจากทั้งในสหรัฐอเมริกา (USFDA) และในไทยแล้ว (THFDA) เช่น Juvederm, Restylane, Neuramis, Belotero, YVOIRE เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อฟิลเลอร์ได้รับการพิจารณาให้ผ่านอย. และนำเข้าอย่างถูกกฎหมาย ทางอย.จะให้ผ่านเป็นรุ่นเท่านั้น บางรุ่นของบางยี่ห้อที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ผ่านอย. ไทย หากมีรุ่นที่ยังไม่ผ่านและนำมาฉีดในสถานพยาบาล อาจเป็นฟิลเลอร์ปลอม หรือฟิลเลอร์หิ้วที่คุณภาพต่ำกว่าที่ควรเป็น หลังจากฉีดอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่ดีได้ ก่อนการฉีดควรพูดคุยกับแพทย์ ขอดูใบกำกับยาภาษาไทย และศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับยี่ห้อฟิลเลอร์ก่อนตัดสินใจเข้ารับการรักษา
6. ฟิลเลอร์ร่องแก้มอันตรายไหม
ฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่อันตราย หากฉีดด้วยฟิลเลอร์แท้ และทำหัตถการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากฟิลเลอร์แท้มีโอกาสแพ้ค่อนข้างน้อย สลายตัวได้เองเมื่อครบเวลา ฉีดสลายได้โดยไม่ได้ทิ้งสารตกค้างไว้ในร่างกาย
หากฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญจริง ในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เปิดอย่างถูกกฎหมายก็จะปลอดภัยมากขึ้น ลดความเสี่ยงอื่นๆ หลังการฉีดฟิลเลอร์ ทั้งฟิลเลอร์ไหล การอักเสบ ติดเชื้อ หลอดเลือดเสียหาย หรือฟิลเลอร์ย้อนเข้าเส้นเลือดจนเสี่ยงเกิดเนื้อตายหรือสูญเสียการมองเห็น
ผลข้างเคียงดังกล่าวอาจดูอันตราย แต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงอย่างการสูญเสียการมองเห็นนั้นเกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งกรณีที่เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวมักเกิดจากการฉีดฟิลเลอร์ที่หว่างคิ้วและบริเวณจมูกที่มาพบแพทย์ไม่ทันหลังเกิดความผิดปกติ ดังนั้นหากมาพบแพทย์เพื่อติดตามผลหลังฉีดฟิลเลอร์ตามนัด ก็ลดความเสี่ยงในจุดนี้ลงได้อีกนั่นเอง
“ฟิลเลอร์ปลอม ใช้เรียกรวมฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ฟิลเลอร์ปลอมบางอย่างทำจากกรดไฮยาลูรอนิค จึงไม่ได้อันตรายมากนัก แต่หากทำจากสารสังเคราะห์อื่น อย่างเช่น โพลีแลคติคแอซิด (Poly Lactic Acid), โพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyalkylimide), และโพลีเมทิลเมทาคริลิค (Polymethylmethacrylate หรือ PMMA) ก็จะเป็นอันตรายมากหากฉีดเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากฟิลเลอร์ปลอมเหล่านี้ไม่สามารถสลายเอง หรือฉีดให้ฟิลเลอร์สลายไปได้ วิธีการนำออกคือต้องผ่าตัดขูดฟิลเลอร์ออก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังมีเนื้อแข็ง เมื่อฉีดมักจะเห็นฟิลเลอร์เป็นก้อนอีกด้วย”
7. ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มเหมาะกับใคร
- ผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มไม่ลึกมาก ในแบบที่ยังสามารถรักษาด้วยการฉีดฟิลเลอร์ได้อยู่
- ผู้ที่กระดูกใต้ตาและร่องแก้มลดลงจนเกิดร่องแก้มลึก
- ผู้ที่มีผิวแห้งจนเกิดรอยที่ร่องแก้ม
- ผู้ที่มีร่องแก้มจากกล้ามเนื้อบริเวณร่องแก้มทำงานมากเกินไป
- ผู้ที่ผิวบริเวณร่องแก้มไม่เรียบเนียน
- ผู้ที่ต้องการยกกระชับใบหน้าให้ดูเด็กลง สามารถฉีดฟิลเลอร์เพื่อยกกระชับได้ในบางกรณี
8. ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้ม
การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- พูดคุยและประเมินลักษณะของร่องแก้มกับแพทย์ แพทย์จะประเมินว่าปัญหาร่องแก้มเกิดจากอะไร ควรแก้ไขอย่างไร พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอน ปริมาณที่ต้องฉีด พูดคุยเพื่อเลือกยี่ห้อที่เหมาะสมกับปัญหาร่องแก้มและงบประมาณที่มี แพทย์จะนัดวันสำหรับฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม หรืออาจฉีดในวันที่ประเมินเลยก็ได้เช่นกัน
- แจ้งประวัติการใช้ยา โรคประจำตัว และการตั้งครรภ์กับแพทย์ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการรักษาเอง
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 1 สัปดาห์ ควรงดยาทาที่มีผลต่อการผลัดเซลล์ผิวในบริเวณแก้มและใต้ตา หยุดยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด พร้อมทั้งยาแก้ปวดทั้งแอสไพรินและ NSAIDS หากเป็นยาที่แพทย์จ่ายให้ทานประจำ ควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนหยุดยา
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 2 – 3 วัน ให้งดอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารที่มีรสเค็มเพราะมีผลกับระบบหมุนเวียนโลหิต
- ก่อนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม 24 ชั่วโมง ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และงดกิจกรรมที่ทำให้เลือดสูบฉีด อย่างการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฆ่าเชื้อในบริเวณแก้ม ร่องแก้ม โหนกแก้ม ใต้ตา หรือเฉพาะในบริเวณที่จะฉีดและบริเวณรอบๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ในกรณีที่ไม่แพ้ยาชา แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ในบริเวณที่จะฉีด เพื่อลดความเจ็บปวด แล้วทิ้งไว้ 15 – 30 นาที รอให้ยาชาออกฤทธิ์
- ฉีดฟิลเลอร์ด้วยเข็มขนาดเล็ก ขั้นตอนนี้จะฉีดในตำแหน่งและความลึกต่างกันในแต่ละบุคคล เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดี เข้ากับรูปหน้า และแก้ปัญหาร่องแก้มอย่างตรงจุด
- แพทย์จะทำความสะอาดแผลอีกครั้ง ไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มมีขนาดเล็กมาก แพทย์จะปิดพลาสเตอร์ขนาดเล็กไว้ให้เพื่อห้ามเลือด
- พักฟื้นสักครู่ จึงสามารถกลับบ้านได้ หากแพทย์เห็นว่าตำแหน่งที่ฉีดเสี่ยงเกิดอาการบวม แพทย์จะให้ประคบน้ำแข็ง แต่ไม่ควรประคบเอง เนื่องจากอุณหภูมิมีผลต่อการเซ็ตตัวของฟิลเลอร์ อีกทั้งการประคบน้ำแข็งอาจจะเผลอกดแรงจนฟิลเลอร์เคลื่อนไปที่เนื้อเยื่ออื่นได้ ส่งผลให้ผลการรักษาออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
9. ขั้นตอนการปฏิบัติตัวหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
หลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
1.ช่วง 2 – 3 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
-
- หลีกเลี่ยงการจับบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มโดยไม่จำเป็น ไม่ควรกด นวด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวยาก ฟิลเลอร์เคลื่อน และอาจทำให้ผิวช้ำได้
- ไม่ควรถูกแสงแดด เนื่องจากผิวจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ อีกทั้งอุณหภูมิกลางแจ้งยังมีผลต่อการเซ็ตตัวของฟิลเลอร์ด้วย
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลกับระบบเลือด อาจทำให้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม อักเสบ และหายช้า
2.ช่วง 4 – 5 วันหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ
3.ช่วง 1 อาทิตย์หลังจากฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้
-
- ยังไม่ควรใช้ยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร ที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งยังไม่ควรออกกำลังกายจนเลือดสูบฉีดมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้แผลหายช้า
- ไม่ควรทานอาหารสุกดิบ และนมวัว เพราะทำให้แผลเสี่ยงติดเชื้อ
- ไม่ควรทานอาหารรสจัดและอาหารหมักดอง เพราะจะไปกระตุ้นการอักเสบ
4.ช่วง 1 เดือนหลังฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ไม่ควรทำเลเซอร์ทุกชนิด เพราะจะทำให้ฟิลเลอร์สลายเร็วกว่าที่ควรเป็น
5.ไม่ควรอยู่ในที่ร้อน อย่างห้องซาวน่า หรือร้านอาหารที่มีเตาร้อน เนื่องจากความร้อนจะทำให้ฟิลเลอร์เซ็ตตัวผิดปกติ และสลายได้ไว
การดูแลตนเองตามคำแนะนำเหล่านี้อย่างเคร่งครัด สามารถทำให้แผลจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม และผิวหนังที่บวมช้ำหายเป็นปกติไวขึ้น ฟิลเลอร์เข้าที่ไว โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยลง ทั้งยังทำให้ฟิลเลอร์อยู่ได้นานขึ้นได้อีกด้วย
หลังจากฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม อาจจะรู้สึกเจ็บ ปวด หรือคัน หลังยาชาหมดฤทธิ์ ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงตามปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่อันตราย และอาการดังกล่าวจะหายไปเองหลังจากผ่านไปประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง
ในช่วง 2 – 3 วันบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์จะบวมมาก หลังจากนั้นจะค่อยๆ ยุบลงและหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ หากอาการเจ็บปวดไม่ดีขึ้นหรือไม่หายบวม ควรปรึกษาแพทย์ประจำสถานพยาบาลที่รักษาให้เร็วที่สุด เนื่องจากอาจเป็นผลข้างเคียงที่จำเป็นต้องรักษาโดยด่วน
นอกจากฟิลเลอร์ร่องแก้มแล้ว ยังมีการฉีดฟิลเลอร์หน้าในตำแหน่งอื่นๆ อีก ได้แก่
ฟิลเลอร์ปาก
ฟิลเลอร์ใต้ตา
ฟิลเลอร์ขมับ
ฟิลเลอร์คาง
ฟิลเลอร์หน้าผาก
10. ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ และไม่อันตราย ได้แก่ อาการบวมแดงช้ำ เจ็บ คัน เลือดไหลเล็กน้อยจากรอยเข็มที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์อุดตันเส้นเลือด จนส่งผลให้เกิดเนื้อตายหรือตาบอด
- ติดเชื้อในบริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์เป็นก้อน
- แพ้ฟิลเลอร์
- แพ้ยาชาจากการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
- ฟิลเลอร์ไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อในบริเวณที่ไม่ต้องการ ทำให้ผลการรักษาออกมาไม่ดี
ทั้งนี้ โอกาสเกิดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงดังกล่าว สามารถทำให้ลดลงได้โดยการเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน หรือปรึกษากับแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม
11. ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มราคาเท่าไหร่
ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ราคาจะขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ฉีดเติมร่องแก้ม ยี่ห้อของฟิลเลอร์ และค่าบริการของสถานพยาบาล ซึ่งปกติแล้วฟิลเลอร์ร่องแก้มราคา cc ละ 6,000 – 20,000 บาท
โดยปกติแล้ว การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มจะใช้ฟิลเลอร์ประมาณ 1 – 2 cc เพื่อปรับผิวบริเวณร่องแก้มให้เรียบ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ต้องฉีดเสริมฐานของเนื้อเยื่อแทนที่กระดูกใต้เบ้าตาและบริเวณร่องแก้มที่สลายไปตามอายุ จะใช้ฟิลเลอร์ประมาณ 3 – 4 cc ซึ่งราคาในการรักษาก็จะสูงขึ้นตามปริมาณฟิลเลอร์ที่ฉีดนั่นเอง
12. แก้ร่องลึกถาวรด้วยการฉีดฟิลเลอร์ได้ไหม
การแก้ร่องลึกถาวร ไม่สามารถทำได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากฟิลเลอร์เป็นสารเติมผิวที่สามารถสลายได้ภายในเวลาประมาณ 12 – 24 เดือน ทำให้ผลการรักษาอยู่ได้นานที่สุดเพียง 2 ปี หลังจากนั้นใบหน้าและร่องแก้มจะกลับเข้าสู่สภาพเดิม
แม้จะต้องไปฉีดฟิลเลอร์ซ้ำเรื่อยๆ แต่ข้อดีของการเติมฟิลเลอร์คือแพทย์สามารถปรับการรักษาตามรูปหน้าที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผลการรักษาดูเป็นธรรมชาติอยู่เสมอ
หากอยากให้การแก้ร่องลึกอยู่ถาวร อาจจะต้องใช้การฉีดไขมัน หรือการผ่าตัดเสริมร่องแก้มแทน เนื่องจากไขมันหรือวัสดุที่นำมาเสริมร่องแก้มจะไม่สลายไปตามเวลาเหมือนฟิลเลอร์นั่นเอง
13. คำถามที่พบบ่อย
แก้มห้อย ร่องแก้มลึกทำไงดี?
ร่องแก้มลึกแก้ยังไง? หากร่องแก้มลึก สิ่งที่ควรทำอย่างแรกคือศึกษาข้อมูลว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง แต่ละวิธีการมีข้อดี ข้อเสีย และความเสี่ยงอย่างไร เพื่อให้คาดหวังผลการรักษาได้อย่างถูกต้อง จากนั้นจึงปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง แล้วจึงดำเนินการรักษาต่อไป
ฉีดฟิลเลอร์ที่ร่องแก้มเจ็บไหม?
ผู้เข้ารับการรักษาส่วนใหญ่บอกว่าการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่เจ็บเลย เนื่องจากแพทย์ใช้ยาชาก่อนการฉีด ขณะฉีดอาจจะรู้สึกตึงที่ใบหน้าบ้าง หลังจากยาชาหมดฤทธิ์จะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และรู้สึกแสบๆ คันๆ บริเวณผิว แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน หากไม่ได้มีการอักเสบหรือติดเชื้อก็จะไม่เจ็บเลย
ฟิลเลอร์ร่องแก้มอยู่ได้นานแค่ไหน?
ฟิลเลอร์ร่องแก้มอยู่ได้นานประมาณ 6 – 24 เดือน ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของฟิลเลอร์ที่ใช้ รวมทั้งการดูแลรักษา หากอยู่ในที่ร้อนบ่อยๆ อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือเป็นผู้ที่มีระบบเผาผลาญดี ฟิลเลอร์ก็จะสลายตัวได้เร็วกว่าปกติ
ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มจะยกกรามขึ้นไหม?
ฟิลเลอร์ร่องแก้มสามารถทำให้กรอบหน้าชัดขึ้นได้ เพราะเป็นเหมือนการยกเนื้อเยื่อบริเวณแก้มขึ้นไป หลังการรักษาจะดูเหมือนยกกรามขึ้นไปด้วย ส่งผลให้หน้าเรียวลง แต่ในความเป็นจริงการฉีดฟิลเลอร์ไม่ได้มีผลกับกระดูกกราม การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มไม่ได้สามารถทำให้กรามเล็กลง ยกกราม หรือทำให้กรอบหน้าชัดขึ้นได้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ที่อยากยกกราม แก้ไขกรอบหน้า ควรปรึกษากับแพทย์ผิวหนังเพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะกับตนเองต่อไป
สรุป
ผู้ที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนการตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม เนื่องจากปัญหาร่องแก้มเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และบางสาเหตุไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถวินิจฉัยสาเหตุ และแก้ปัญหาร่องแก้มได้อย่างตรงจุด
ฉีดฟิลเลอร์แล้วเป็นก้อน เกิดจากอะไร แนวทางแก้ไขและป้องกันมีอะไรบ้าง ?
ข้อควรรู้ก่อนฉีดฟิลเลอร์ ฟิลเลอร์คืออะไร อันตรายไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร ?
ฟิลเลอร์คืออะไร อันตรายหรือไม่ มีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง ?
ฟิลเลอร์ Biohyalux คืออะไร ดีไหม ?
ข้อควรรู้ก่อนฉีดฟิลเลอร์ขมับ !
ใต้ตาหมองคล้ำ ขอบตาดำ แก้ไขได้! ด้วยการฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา
สลายฟิลเลอร์ ใช้เวลานานมั้ย? ต้องรอกี่วัน สามารถฉีดซ้ำได้หรือไม่?