การบำรุงดูแลผิวหน้าด้วยอาหารและวิตามินเพื่อให้ผิวดูกระชับเต่งตึงอาจไม่เพียงพอสำหรับสำหรับคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ นอนดึกตื่นเช้าทุกวันจนไม่มีเวลาดูแลตนเองมากพอ กระทั่งผิวหน้าเริ่มหย่อนคล้อย ดูไม่กระชับเหมือนสมัยเป็นวัยรุ่น ทำให้หลายคนจำเป็นต้องมองหาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมดูแลผิวหน้าอื่น ที่จะช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยบนใบหน้าได้ และโบท็อกซ์ก็เป็นหนึ่งในคำตอบที่ใช่ และได้รับความนิยมในปัจจุบัน
โบท็อกซ์คืออะไร ?
โบท็อกซ์ (Botox) เป็นชื่อทางการค้าของสารสกัดที่เรียกว่า “โบทูลินัม ท็อกซิน เอ” (Botulinum toxin A) จากแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) เป็นนวัตกรรมเพื่อลดริ้วรอยและปรับรูปใบหน้าซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องการให้ผิวใบหน้าไม่หย่อนคล้อย กล้ามเนื้อผิวหน้ามีความกระชับ ดูเรียวสวยเต่งตึง และรูขุมขนตื้นขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกที่ฉีด นอกจากนี้ โบท็อกซ์ยังนำไปใช้การรักษาอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น
- ไมเกรน
- ตาเข
- หนังตากระตุก
- กล้ามเนื้อคอหดเกร็ง
- กล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง
- แก้ปัญหาในผู้ที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ โดยเฉพาะที่บริเวณมือและรักแร้
แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อดีของการใช้โบท็อกซ์รักษาอาการต่างๆ ก็ยังมีข้อควรระวังบางอย่างที่ผู้เข้ารับบริการต้องพึงระวัง
เพราะสารโบทูลินัม ท็อกซิน เอนั้น เป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxin) ซึ่งหากได้รับโดยรับประทานเข้าไป ก็อาจทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ หรือทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
และผลลัพธ์จากการฉีดโบท็อกซ์นั้นจะไม่ถาวร เพราะสารนี้สามารถสลายไปได้เองภายในเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากผู้ใช้ต้องการเข้ารับการฉีดอีก ก็สามารถมาเติมได้เป็นระยะๆ
นอกจากนี้ผู้เข้ารับบริการก็ยังต้องระมัดระวังผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ปลอมที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป
เพราะสารในผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ปลอมนั้นอาจส่งผลข้างเคียงร้ายแรง และทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ด้วย
และนอกเหนือจากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์แต่ละยี่ห้อที่แตกต่างกันแล้ว การกำหนดปริมาณ หรือยูนิตในการฉีดโบท็อกซ์แต่ละยี่ห้อก็จะแตกต่างกันไปกัน
ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากแพทย์ที่จะเป็นผู้ประเมินปริมาณที่เหมาะสมให้กับผู้เข้ารับบริการ ซึ่งโดยส่วนมาก แพทย์จะเลือกใช้ปริมาณการฉีดที่น้อยที่สุดแต่เห็นผลชัด เพื่อลดปัญหาการดื้อยา และไม่ให้เกินปริมาณที่แนะนำสำหรับโบท็อกซ์ยี่ห้อนั้นๆ
ในประเทศไทย สารโบท็อกซ์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ สามารถจำหน่ายได้ผ่านสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ประจำเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้เข้ารับบริการจึงควรเลือกใช้บริการกับสถานพยาบาล หรือคลินิกเสริมความงามที่ได้มาตรฐาน และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้มีการเตรียมสารโบท็อกซ์ใหม่ก่อนฉีดทุกครั้ง ไม่ใช่การใช้ของที่ผสมทิ้งไว้นานแล้ว
หรือถ้าเป็นไปได้ ผู้เข้ารับบริการควรขอกล่องบรรจุภัณฑ์กลับมาด้วย หรือถ่ายรูปเก็บไว้ เพื่อจะได้มีข้อมูลการผลิตของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเก็บไว้ตรวจสอบ
ก่อนฉีดโบท็อกซ์ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ก่อนเข้ารับบริการฉีดโบท็อกซ์ ผู้เข้ารับบริการจำเป็นจะต้องเข้าพบแพทย์เสียก่อน เพื่อทำการตรวจผิวหนังและปรึกษาเกี่ยวกับบริเวณที่จะฉีด ดังนั้นผู้เข้ารับบริการจึงอาจต้องมีการเตรียมตัวดังต่อไปนี้
- งดรับประทานยา หรือวิตามินที่ทำให้เลือดหยุดไหลยาก เช่น
- ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-SteroidalAnti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
- ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
- วิตามินซี
- น้ำมันตับปลา
- แปะก๊วย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์ ไวน์ น้ำหมัก
- งดรับประทานอาหารประเภทหมูกะทะ ปิ้งย่าง ชาบู ที่ต้องนั่งหน้าเตาร้อนๆ
- งดรับประทานอาหารที่เผ็ดมากๆ หรือแสบร้อนจนหน้าแดง
- งดรับประทานอาหารหมักดอง เพราะมีสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง มะม่วงดอง
- งดสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ขยายหลอดเลือด ไม่ควรประคบร้อน
ขั้นตอนการฉีดโบท็อกซ์
- แพทย์ตรวจสอบสภาพผิวที่จะทำการฉีดโบท็อกซ์ และพูดคุยกับผู้เข้ารับบริการว่าจะฉีดบริเวณจุดไหนบ้าง รวมถึงยี่ห้อผลิตภัณฑ์ในการฉีดว่า เป็นยี่ห้อใด
- แพทย์จะทายาชา หรือใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่จะฉีดก่อน เพื่อให้ไม่รู้สึกเจ็บเกินไป
- แพทย์ทำการฉัดโบท็อกซ์ โดยจะใช้เข็มขนาดเล็กฉีดสารโปรตีนปริมาณพอเหมาะลงไปที่กล้ามเนื้อ เวลาในการฉีดจะประมาณ 10-15 นาที ขึ้นอยู่กับบริเวณ และปริมาณที่ฉีด
การทำงานของโบท็อกซ์
หลังจากแพทย์ฉีดโบท็อกซ์เข้าไปในส่วนที่ต้องการรักษาแล้ว สารโบท็อกซ์จะเข้าไปจับที่ปลายประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทมาที่กล้ามเนื้อได้ หรือจะเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดเป็นอัมพาตชั่วคราว
จึงทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นคลายตัว ซึ่งระยะเวลาที่จะเห็นผลหลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้วจะอยู่ที่ภายใน 1-2 สัปดาห์ และจะอยู่ได้นาน 3-6 เดือน หลังจากนั้นกล้ามเนื้อจะค่อยๆ หดตัวจนกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ที่ฉีดด้วย
การดูแลตัวเองหลังฉีดโบท็อกซ์
หลังจากฉีดโบท็อกซ์แล้ว ผู้เข้ารับบริการควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งมักได้แก่
- ไม่นอนราบในช่วง 3-4 ชั่วโมงแรกหลังจากฉีดโบท็อกซ์ เพราะโบท็อกซ์อาจไหลไปในบริเวณที่ไม่ต้องการ
- ให้นอนหงายหนุนหมอนสูง ในคืนแรกของการรักษา
- ไม่ประคบร้อน และระวังอย่าให้ลมร้อนจากไดร์เป่าผมไปเป่าบริเวณที่เพิ่งฉีดโบท็อกซ์มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- ไม่นวด กด บีบ คลึง บริเวณที่เพิ่งทำการฉีดโบท็อกซ์มา เป็นเวลา 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากการทำให้ยากระจายไปออกฤทธิ์ยังบริเวณอื่นได้
- หากมีอาการบวมแดงหรือช้ำในช่วง 1-2 วันแรกหลังการฉีดโบท็อกซ์ (ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้เนื่องจากเข็มฉีดยา) ให้ใช้น้ำแข็งประคบได้
- ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษา และหากพบความผิดปกติก่อนวันนัด เช่น หนังตาตก ปวดศีรษะ ปวดคอ เห็นภาพซ้อน ตาแห้ง มีอาการแพ้หรือหายใจไม่สะดวก ควรติดต่อแพทย์ทันทีเพื่อปรึกษาว่า ควรเลื่อนการฉีดโบท็อกซ์ออกไปก่อนดีหรือไม่
การดื้อโบท็อกซ์คืออะไร
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ดื้อโบท็อกซ์” มาก่อน ซึ่งอาการนี้หมายถึง การฉีดโบท็อกซ์แล้วไม่เห็นผลลัพธ์
โดยอาการดื้อโบท็อกซ์ มีสาเหตุมาจากโปรตีนในสารโบท็อกซ์นั้นมีหลายชนิด ซึ่งเมื่อฉีดเข้าร่างกายไปแล้ว ร่างกายของผู้เข้ารับบริการบางรายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อต่อต้านสารโปรตีนดังกล่าว ทำให้การออกฤทธิ์ของสารโบท็อกซ์ไม่เห็นผลเท่าที่ต้องการ
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการดื้อโบท็อกซ์ขึ้น ได้แก่
- การใช้โบท็อกซ์ในปริมาณสูงเกินไป
- การฉีดโบท็อกซ์ที่ถี่เกินไป
ดังนั้นผู้เข้ารับบริการจึงควรฉีดโบท็อกซ์ในปริมาณที่น้อยที่สุด และไม่ควรฉีดเกินปริมาณสูงสุดที่กำหนดให้ฉีดได้ นอกจากนี้ การฉีดแต่ละครั้งยังควรห่างกันมากกว่า 12 สัปดาห์ด้วย
ส่วนวิธีแก้ไขเมื่อผู้เข้ารับบริการเกิดอาการดื้อโบท็อกซ์ขึ้น การใช้วิธีฉีดสารโปรตีนเพิ่มขึ้นอาจเป็นวิธีที่ช่วยได้
แต่ทางแก้ที่ถูกต้องและปลอดภัยที่สุดคือ ให้เว้นระยะเวลาการฉีดออกไปก่อน เพื่อให้ร่างกายได้สลายสารสกัดโปรตีนออกให้หมด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีแล้วค่อยกลับมาฉีดใหม่
ข้อควรระวังและผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้หลังฉีดโบท็อกซ์
โดยส่วนมาก การฉีดโบท็อกซ์มักไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายร้ายแรง หากฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงมีการเว้นระยะการฉีดไปไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับสุขภาพบางประการไม่ควรเข้ารับการฉีดโบท็อกซ์ เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ได้แก่
- ผู้มีความผิดปกติทางกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส (Amyotrophic Lateral Sclerosis: ALS) ไม่ควรฉีด โบท็อกซ์ เพราะอาจทำให้อาการแย่ของโรคลง
- หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร แม้จะยังไม่มีรายงานเรื่องอันตราย แต่ก็ไม่มีข้อมูลเพียงพอรับรองว่าปลอดภัยเช่นกัน อีกทั้งในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรจะหลีกเลี่ยงสารเคมีที่อาจส่งผลต่อร่างกายไม่ว่าจะบริเวณไหนก็ตามให้มากที่สุด
ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรจึงควรหลีกเลี่ยงการฉีดโบท็อกซ์ไปก่อน
ส่วนผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ทั่วไป โดยอาจเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญของแพทย์ หรือเกิดจากผู้รับบริการปฏิบัติตัวหลังฉีดโบท็อกซ์ไม่ถูกต้อง จะได้แก่
- อาจมีอาการปวดศีรษะหรือปวดในบริเวณที่ฉีด
- เคี้ยวอาหารได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่แข็งและเหนียว เพราะกล้ามเนื้อในบริเวณที่ฉีดโบท็อกซ์มามีความหนืดมากขึ้น
- ข้อต่อของขากรรไกรไม่แข็งแรงเท่าเดิม
- ใบหน้าทั้งสองข้างไม่สมมาตร หรือปากเบี้ยวเวลายิ้ม
- สำหรับผู้ที่แต่เดิมมีเนื้อแก้มเยอะ เมื่อฉีดโบท็อกซ์จนหน้าเรียวขึ้นแล้ว อาจทำให้เนื้อแก้มห้อยคล้อยลงมา
ส่วนมากผลข้างเคียงที่กล่าวไปข้างต้นนั้น มักส่งผลไม่ร้ายแรงมากนัก และจะเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นอาการก็จะหายไปเอง
แต่ในกรณีที่ส่งผลข้างเคียงระยะยาว ผู้เข้ารับบริการอาจจำเป็นจะต้องรอให้สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ ที่ฉีดเข้าไปสลายไปเองเสียก่อน แล้วอาการข้างเคียงจึงจะหายไป
บอกลาปัญหากลิ่นกาย ด้วย “โบท็อกซ์รักแร้”